- อาร์เซนอล สามารถยิงประตูนำคู่แข่งถึง 4 ประตู ในครึ่งแรกในเกมพรีเมียร์ ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี นับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2011 โดยเกมนั้นจบเกมด้วยผลเสมอ
นิวคาสเซิ่ล 4-4
• ชัยชนะ 6-0 เป็นสกอร์สูงสุดในฤดูกาลนี้ เทียบเท่ากับ ชัยชนะเหนือ ลองส์ ในเกมแชมเปี้ยนส์ ลีก
• ความพ่ายแพ้ 6-0 คือความพ่ายแพ้ที่เละเทะที่สุดในการคุมเวสต์แฮม ของ เดวิด มอยส์
รายการแข่งขัน : พรีเมียร์ ลีก 2023-2024
วันแข่งขัน : วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2024
สนาม :โอลิมปิก สเตเดี้ยม
ผลการแข่งขัน : เวสต์แฮม 0 – 6 อาร์เซนอล
อาร์เซนอลเอาคืนในแบบทบต้นทบดอกกับชัยชนะเหนือเวสต์แฮม 6-0 ที่กลายเป็นสถิติชัยชนะมากที่สุดในฐานะทีมเยือนของพวกเขาในเกมพรีเมียร์ ลีก
บอลคอนโทรลแบบเบ็ดเสร็จของอาร์เซนอล
15 นาทีแรก กลายเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเวสต์แฮม ที่พวกเขาสามารถครองบอลสู้กับอาร์เซนอล แต่หลังจากนั้นมันไม่มีสิ่งเหล่านั้นอีกเลยจนจบเกม
ช่วงแรกของเกมที่โมเมนตัมของเกมที่ยังไม่ชัดเท่าไรนัก ทั้งสองทีมไล่เพรสซิ่งกันตั้งแต่แดนบนด้วยกันทั้งคู่ ประกอบกับบรรยากาศในสนามสร้างแรงกดดันได้ดีมาก อาร์เซนอล มีอาการเกร็งเหมือนกัน ในจังหวะเซตเกมหลังบ้าน แต่หลังจากนั้น คุณภาพการแย่งบอล และความแม่นยำในการออกบอลของอาร์เซนอล สร้างความแตกต่างได้ชัดเจน พวกเขาครองบอลได้ต่อเนื่อง เก็บบอลสองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นบุกกดดันอยู่ฝั่งเดียว เบ็ดเสร็จและพอเกิดประตูแรกของเกมทุกอย่างก็เข้าทาง ประตูที่สองคือการลงล็อค ส่วนประตูที่ 3 คือการปิดทางคู่แข่งในการกลับมาสู่เกม ส่วนที่เหลือคือผลของศักยภาพที่ทีมทำได้ในเกมนี้
อาร์เซนอล ชนะเกมนี้ด้วยการยิงเข้ากรอบ 12 ครั้ง จาก 25 ครั้ง คิดเป็น 50 % ของการเข้ากรอบ หมายถึงหนึ่งประตู บ่งบอกถึงคุณภาพที่ดุดันอย่างยิ่งของพวกเขา
เซตเพลย์ จุดเปลี่ยน (อีกแล้ว) ของทีมเยือน
อาร์เซนอล ตอกย้ำการเป็นทีมที่ได้ประตูจากเซตเพลย์มากที่สุดในฤดูกาลนี้ และเกมนี้พวกเขาก็ได้มาอีก 2 ประตู จากจังหวะเซตเพลย์ ทั้งจากลูกเตะมุม และฟรีคิก ซึ่งคนทำสองประตูดังกล่าวก็คือ กาเบรียล และ ซาลิบา สองคู่กองหลังตัวกลาง คนละหนึ่งประตู
ประตูแรกของเกม เป็นประตูที่สำคัญที่สุดในเกมนี้ เพราะมันเปลี่ยนโฉมของเกมทันที และมันก็มาจากลูกเซตเพลย์ ที่ทำให้รูปเกมที่อาร์เซนอลครองเกมมากกว่าได้เปรียบอย่างเป็นรูปธรรม และตลอดเกมที่พวกเขาได้จังหวะเซตเพลย์ กลายเป็นจังหวะ “ได้ลุ้น” แทบทุกจังหวะอีกด้วย
การเล่นเซตเพลย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นนี้จะสร้างแรงกดดันทั้งในแง่ของการกระทำ และ “จิตวิทยา” ในความคิดของคู่แข่งในเวลาเดียวกัน
การเคลื่อนที่ของ ฮาแวตซ์ – ทรอตซาร์
วันนี้อาร์เซนอล ไม่ส่ง จอร์จินโญ่ ลงมากลางสนามเหมือนในเกมกับลิเวอร์พูล ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความฟิตของนักเตะ เขาเลือก เลอันโดร ทรอตซาร์ ลงมาเป็นตัวจริง และ ไค ฮาแวตซ์ ที่เล่นในรูปแบบใกล้เคียงกันกับการสลับขึ้นไปเป็นหน้าเป้า และ พื้นที่หลังกองหน้า หรือฉีกไปทางด้านข้างก็ได้ คล้าย ๆ มีตัว Free Role ที่สลับกันในจังหวะเกมรุก-เกมรับ ทรอตซาร์ ดูลงตัวมากกับการลงเล่นจ่ายบอล หรือสอดขึ้นไปทำประตู แถมมีจังหวะวางบอลยาวแม่นยำอีกต่างหาก ขณะที่ ฮาแวตซ์ ก็ตอกย้ำว่าพื้นที่ ๆ เขาเหมาะสมคือพื้นที่หลังกองหน้า และเป็นตัวเชื่อมเกมด้านบน อยู่ที่ว่าแต่ละเกมจะทำได้ดีแค่ไหน แต่ตรงนี้เขาเล่นได้ดี นี่คือสิ่งที่เห็นมาจากหลายเกมนับจากย้ายมาที่นี่
มันแสดงให้เห็นว่าสองนักเตะที่เข้ามากับทีมประมาณหนึ่งปี กับไม่ถึงหนึ่งปี ยังมี “ศักยภาพ” อีกหลายอย่างที่ทีมสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ให้กับทีมได้ ส่วนจะต่อเนื่องและรักษามาตรฐานที่ดีได้มากแค่ไหนก็ต้องรอดูกันต่อไป
ขุนค้อนแตกยับในแนวรับ
ในขณะที่อาร์เซนอลได้รับเสียงชื่นชมมากมาย เจ้าบ้านก็ได้แต่ยอมรับความพ่ายแพ้ที่พวกเขาหละหลวมทั้งเรื่องของผลงาน และสมาธิในเกมนี้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของสภาพ “จิตใจ” ที่มีปัญหาอย่างยิ่งโดยเฉพาะการเสีย
2 ประตูในครึ่งหลัง ที่แม้จะเป็นการยิงประตูที่สวยงาม แต่เกมรับของเจ้าบ้านก็ถูกเจาะทะลวงได้ง่ายเกินไปในเกมนี้
“ชัยชนะ” ที่กลายเป็นสถิติใหม่ของอาร์เซนอล
ชัยชนะ 6-0 ของอาร์เซนอล คือชัยชนะเกมเยือนที่มากที่สุดของอาร์เซนอล นับจากลงเล่นในพรีเมียร์ ลีก นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อลีกในปี 1992
อย่างไรก็ตามชัยชนะนี้ ก็ยังคงเป็นชัยชนะที่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากการถล่ม 7-0 ที่พวกเขาเคยทำได้ในเกมกับ มิดเดิ้ลสโบรซ์ (2005-2006), เอฟเวอร์ตัน (2004-2005) และเทียบเท่ากับการถล่มแบล็คพูล 6-0 ในฤดูกาล 2010-2011 โดยทั้งหมดเกิดขึ้นในเกมเหย้าของอาร์เซนอลทั้งหมด